You are here :

บทความแนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน

Card image cap
สิริสกุล เกิดมี
คณะศิลปนาฎดุริยางค์
11,647 views / 15/03/2562

แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน Good practice for proposing topics for research / creation to receive scholarships นางสาวชัญญาภัค แก้วไทรท้วม ตำแหน่ง นักวิชาการศึกษาปฏิบัติการ สถานที่ทำงาน ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และ E-mail address suka3566@gmail.com .......................................................................................................................................................... บทสรุป ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสนอหัวข้อวิจัยและการรับรู้ประโยชน์ที่ได้จากการเสนอหัวข้อและโครงการวิจัยที่ดี มีคุณภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนและสามารถพัฒนางานวิจัยที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่ คณะกรรมการจัดการความรู้ของฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม จึงได้ดำเนินการจัดเก็บองค์ความรู้ เรื่อง แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่ถูกต้อง และสามารถพัฒนาโครงการวิจัยให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของแหล่งทุนต่างๆ มากยิ่งขึ้น โดยการเสวนา แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคณะกรรมการจัดการความรู้ของฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม กับผู้ทรงคุณวุฒิผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อสรุปเป็นเอกสารทางวิชาการ จากการแสวงหาความรู้โดยคณะกรรมการจัดการความรู้ ของฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สามารถสรุปเป็นประเด็นองค์ความรู้ เรื่อง แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน ได้ดังนี้ 1. การเลือกประเด็นหรือหัวข้อวิจัย 2. รูปแบบของโครงร่างวิจัย 3. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาการวิจัย 4. วัตถุประสงค์การวิจัย 5. กรอบแนวคิดการวิจัยและตัวแปรที่เราจะศึกษาต้องชัดเจน 6. การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 7. วิธีการดำเนินการวิจัย 8. การกำหนดงบประมาณวิจัย 9. การนำไปใช้ประโยชน์ คำสำคัญ ข้อเสนอโครงการวิจัย,แหล่งทุน บทนำ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ เป็นสถาบันการศึกษาที่มีภารกิจหลักในการจัดการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรมระดับอุดมศึกษา อาชีวศึกษา และระดับพื้นฐาน ทั้งนี้หนึ่งในพันธกิจหลักของสถาบันฯ คือ การวิจัยและการสร้างผลงานสร้างสรรค์ต่อยอดงานศิลป์บนพื้นฐานเอกลักษณ์ของท้องถิ่นและความเป็นไทย และเผยแพร่ผลงานในระดับชาติและนานาชาติ ซึ่งการเสนอหัวข้อวิจัยเป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งในการขอรับสนับสนุนทุนการวิจัยจากหน่วยงานต่าง ๆ ดังนั้นครู อาจารย์ นักวิชาการรวมถึงบุคลากรทางการศึกษาของสถาบันฯ จึงต้องแสวงหาความรู้ใหม่ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของตนเองในการเขียนข้อเสนอการวิจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งครู และอาจารย์ต้องพัฒนาองค์ความรู้ในการสอนนักเรียน นักศึกษาในขณะเดียวกันก็จำเป็นต้องรักษาสถานภาพการเป็นอาจารย์ของตนเองในการดำรงตำแหน่งวิชาการไปพร้อมกันด้วย ในขณะที่สถาบันฯ ได้กำหนดการควบคุมคุณภาพการจัดการศึกษาทั้งการประกันคุณภาพภายในและการประกันคุณภาพภายนอก โดยสถาบันฯ ต้องมีผลงานวิจัยตามหลักเกณฑ์การประกันคุณภาพการศึกษา แต่การทำวิจัยที่มีคุณภาพจำเป็นต้องใช้เงินทุนจำนวนมากในการดำเนินการ ซึ่งผู้วิจัยต้องแสวงหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนต่าง ๆ จึงต้องแข่งขันกับผู้เสนอขอรับทุนวิจัยที่มีจำนวนเพิ่มมากขึ้นแต่แหล่งเงินทุนวิจัยมีจำนวนไม่มากนัก ดังนั้นการพิจารณาให้ทุนสนับสนุนการวิจัยแต่ละครั้งจึงมีหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อคัดเลือกโครงการวิจัยที่มีคุณค่าทั้งด้านวิชาการและการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง ผู้เสนอขอทุนวิจัยจึงต้องเรียนรู้วิธีการที่จะเขียนโครงการวิจัยที่มีคุณภาพเพื่อให้สามารถขอรับทุนจากหน่วยงานภายนอกได้ ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสนอหัวข้อวิจัยและการรับรู้ประโยชน์ที่ได้จากการเสนอหัวข้อและโครงการวิจัยที่ดี มีคุณภาพ เพื่อเป็นการเพิ่มโอกาสในการขอรับทุนสนับสนุนการวิจัยจากแหล่งทุนและสามารถพัฒนางานวิจัยที่ตนถนัดได้อย่างเต็มที่ จึงได้ดำเนินการจัดเก็บองค์ความรู้ เรื่อง แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน เพื่อเป็นการสร้างความรู้ความเข้าใจในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยที่ถูกต้อง และสามารถพัฒนาโครงการวิจัยให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของแหล่งทุนวิจัยภายนอกมากยิ่งขึ้น วิธีการดำเนินงาน กิจกรรมที่ 1 การค้นหาความรู้ แต่งตั้งคณะกรรมการจัดการความรู้ ของฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม และดำเนินการประชุม เพื่อกำหนดประเด็นความรู้ที่จะดำเนินการจัดเก็บ โดยเลือกคณะกรรมการจากผู้ที่ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ย้อนหลังไม่เกิน 2 ปี คณะกรรมการบริหารงานวิจัยทางการศึกษาด้านศิลปวัฒนธรรม และการจัดการองค์ความรู้ สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ และผู้เชี่ยวชาญจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เพื่อกำหนด Knowledge mapping ได้ประเด็น เรื่อง “แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน” กิจกรรมที่ 2 การสร้างและการแสวงหาความรู้ - Explicit Knowledge ได้แก่ การมอบหมายคณะกรรมการการเตรียมตัวทบทวนความรู้ของตนในประเด็นที่จะจัดการความรู้ รวมถึงการศึกษาเอกสาร ตำรา ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์ความรู้ที่จะจัดเก็บเพิ่มเติม -Tacit Knowledge ได้แก่ ดำเนินการเสวนา แลกเปลี่ยน ประเด็นความรู้เกี่ยวกับการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ของคณะกรรมการฯ ในหัวข้อเรื่อง “แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน” โดยคณะกรรมการฯ และผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อสรุปเป็นเอกสารทางวิชาการ หรือสื่อในการเผยแพร่องค์ความรู้ โดยมีการจัดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จำนวน 2 ครั้งต่อเดือน ระยะเวลาครั้งละ 1 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการนำเสนอโดย KM Team แต่ละคนๆ ละไม่เกิน 3 นาที ที่เหลือรับฟังโดยไม่เสนอความคิดเห็นใดๆ ทั้งนี้ฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการฯ เป็นผู้จดบันทึกประเด็นองค์ความรู้ของแต่ละรายบุคคล เพื่อสรุปในแต่ละครั้งและเผยแพร่ให้ KM Team ได้แลกเปลี่ยนก่อนการพูดคุยในครั้งต่อไป กิจกรรมที่ 3 การจัดการความรู้ให้เป็นระบบ - การดำเนินการจัดทำสื่อ เอกสารวิชาการ ที่เกี่ยวกับองค์ความรู้ที่ดำเนินการจัดเก็บ - การจัดทำช่องทางในการสืบค้น เพื่อง่ายต่อการเผยแพร่ และเข้าถึงองค์ความรู้โดยมีการจัดองค์ความรู้ที่จัดเก็บในส่วนของการวิจัย/สร้างสรรค์ผลงาน และนวัตกรรม กิจกรรมที่ 4 การประมวลและกลั่นกรอง - การพิจารณาและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณะกรรมการฯ - การจัดทำเอกสารข้อสรุปที่ได้จากการเสวนา - การตรวจสอบเนื้อหา ภาษา รูปเล่มหรือสื่อเพื่อเป็นการดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง ความครบถ้วน ของเนื้อหา ภาษา องค์ความรู้ที่จัดเก็บให้ตรงกับการใช้งานของกลุ่มเป้าหมาย นำไปใช้ได้โดยง่าย รวมถึงการนิยามศัพท์ การกำหนดคำสำคัญในการสืบค้น กิจกรรมที่ 5 การเข้าถึงความรู้ 1. สำรวจความต้องการของบุคคลที่สนใจส่งหัวข้อวิจัยให้ได้รับทุน 2. จัดโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยในการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้ได้รับทุน 3. ส่งองค์ความรู้ที่จัดเก็บลงในกลุ่มไลน์ และเฟสบุ๊ค ในกลุ่มที่เกี่ยวข้อง 4. ประชาสัมพันธ์ผ่านเว็บไซต์ของสถาบันฯ 5. ติดบอร์ดประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง กิจกรรมที่ 6 การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ การนำเสนอแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับผลของการนำองค์ความรู้ที่จัดเก็บไปใช้ประโยชน์ และการเสวนาของผู้สนใจเสนอขอรับสนับทุนวิจัยของสถาบันฯ เกี่ยวกับข้อดี ข้อเสีย และสิ่งที่ควรปรับปรุง แก้ไข เพิ่มเติม ผ่านช่องทางการสื่อสารต่างๆ ได้แก่ Facebook Email line และเอกสารทางราชการ กิจกรรมที่ 7 การเรียนรู้ การนำข้อเสนอแนะจากการนำองค์ความรู้ไปใช้ มาแก้ไข ปรับปรุง เพิ่มเติมองค์ความรู้เดิม ให้สมบูรณ์และครบถ้วนเพิ่มมากขึ้น พร้อมทั้งนำผลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับผลของการนำองค์ความรู้ไปใช้ประโยชน์ มาวางแผนในการส่งเสริม แก้ไข เปลี่ยนแปลง องค์ความรู้เดิมที่จัดเก็บให้มีความสมบูรณ์ ชัดเจน และเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ต่อไป ผลและอภิปรายผลการดำเนินงาน จากการแสวงหาความรู้โดยคณะกรรมการจัดการความรู้ ของฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม สามารถสรุปเป็นประเด็นองค์ความรู้ ได้ดังนี้ 1. การเลือกประเด็นหรือหัวข้อวิจัย 1.1 ควรเลือกประเด็นมีความสอดคล้องกับนโยบาย และพันธกิจของสถาบันฯ รวมถึงยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ โดยเป็นประเด็นที่มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในสังคม หรือเป็นประเด็นที่สนใจในปัจจุบัน 1.2 การกำหนดชื่องานวิจัยควรมีความชัดเจน สื่อความหมายให้เข้าใจได้ว่าผู้วิจัยจะดำเนินการศึกษาสิ่งใดหรือบ่งบอกถึงปัญหาการวิจัยและแสดงขอบเขตของการดำเนินการวิจัย 1.3 หัวข้อวิจัยควรสามารถศึกษา วิเคราะห์ปัญหา ตอบข้อสงสัยที่สามารถนำไปสู่การแก้ปัญหาที่พบหรืองานที่ปฏิบัติได้ 1.4 ผู้วิจัยมีความรู้เกี่ยวกับหัวข้อวิจัยที่ต้องการดำเนินการวิจัย 1.5 หัวข้อวิจัยควรเป็นการสร้างองค์ความรู้หรือนวัตกรรมใหม่ ๆ 2. รูปแบบของโครงร่างวิจัย 2.1 ผู้ที่ต้องการเสนอโครงร่างการวิจัยควรศึกษารูปแบบของโครงร่างที่จะใช้ในการเสนอขอทุนวิจัยจากแหล่งทุนที่ยื่นข้อเสนอวิจัยในหัวข้อต่างๆ ให้ชัดเจน 2.2 ควรมีการติดต่อและระบุผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีทักษะหรือความรู้ประสบการณ์ ตรงกับประเด็นที่ผู้วิจัยต้องการดำเนินการวิจัย เพื่อช่วยในการตรวจสอบคุณภาพของโครงร่างการวิจัย 2.3 ผู้วิจัยควรมีการติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด เพื่อติดตาม ตรวจสอบ แก้ไขหรือส่งเอกสารต่าง ๆ ที่ไม่สมบูรณ์เพิ่มเติมได้ทันตามกำหนดเวลาของการดำเนินการขอรับทุน 3. ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา 3.1 ควรเขียนให้เห็นถึงสภาพปัจจุบันที่เป็นอยู่ว่ามีปัญหาอย่างไร เปรียบเทียบกับสภาพที่ควรจะเป็น และชี้ให้เห็นว่างานวิจัยนี้จะมาแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร 3.2 ควรเขียนความเป็นมาของงานวิจัยให้ชัดเจน มีความต่อเนื่องลดหลั่นกันลงมาในแต่ละย่อหน้า และแสดงความสำคัญรวมถึงขอบเขตการวิจัยให้ชัดเจน 3.3 ควรเลือกใช้คำที่เป็นคำศัพท์ทางวิชาการ ไม่ใช่ภาษาพูด และสามารถสื่อถึงความรู้นั้นๆ ให้มีความชัดเจนและมีคุณภาพมากที่สุด 4. วัตถุประสงค์การวิจัย 4.1 วัตถุประสงค์ควรสอดคล้องกับสภาพปัญหาการวิจัยและประเด็นที่ต้องการศึกษา 4.2 ควรตั้งวัตถุประสงค์การวิจัยเป็นประโยคบอกเล่า ไม่มากจนเกินไป สามารถดำเนินการได้จริงและต้องครอบคลุมเรื่องที่ต้องการจะศึกษาทั้งหมด 4.3 วัตถุประสงค์ต้องสามารถบ่งบอกได้ชัดเจนว่า ผู้วิจัยต้องการนำเสนอหรือค้นคว้าอะไร 5. กรอบแนวคิดการวิจัยและตัวแปรที่เราจะศึกษาต้องชัดเจน 5.1 กรอบแนวคิดในการวิจัยควรแสดงให้เห็นความสัมพันธ์ในภาพรวมของานวิจัย 6. การทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 6.1 ผู้วิจัยควรศึกษาเอกสาร ตำรา ที่เกี่ยวข้องกับระเบียบวิธีวิจัย และควรทำความเข้าใจ เพื่อที่ผู้วิจัยจะได้เลือกระเบียบวิธีวิจัยมาใช้ได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับงานวิจัย 6.2 ควรอ้างถึงผลจากงานวิจัยอื่นๆ แนวคิด หรือทฤษฎีต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการวิจัยให้ชัดเจน 6.3 ผู้วิจัยควรมีการศึกษาเอกสาร และวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องและสอดคล้องกับประเด็นที่จะวิจัย 6.4 ผู้วิจัยต้องนำเสนอผลการทบทวนวรรณกรรม (Literature Review) ที่สำคัญบางส่วนในโครงร่างที่จะนำเสนอให้ขัดเจน 7. วิธีการดำเนินการวิจัย 7.1 ผู้วิจัยควรมองภาพรวมในเรื่องที่จะดำเนินการทำวิจัยว่าจะดำเนินการอะไร อย่างไร มีกลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลเป็นกลุ่มใด กำหนดแนวทางการในเก็บข้อมูลอย่างไร และการวิเคราะห์ข้อมูลจะให้สถิติหรือวิธีการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบใด 7.2 ระบุรูปแบบการเก็บรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจน ทั้งการจัดประชุม การระดมความรู้กลุ่ม (focus group) การใช้แบบสอบถาม การสัมภาษณ์ หรืออื่นๆ ให้ชัดเจน 7.3 ผู้วิจัยควรขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาโครงการตลอดการทำงานวิจัย 8. การกำหนดงบประมาณวิจัย 8.1 ผู้วิจัยควรกำหนดงบประมาณที่เหมาะสมกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการวิจัย รวมไปถึงการกำหนดแผนการดำเนินงานในขั้นตอนต่าง ๆ ให้ชัดเจน 8.2 ผู้วิจัยควรใช้เงินอย่างคุ้มค่าและเหมาะสม ทั้งนี้ผู้วิจัยไม่ควรของบประมาณที่มีจำนวนเงินเกินความเป็นจริง ควรจัดสรรเงินในการจัดทำงานวิจัยอย่างสมเหตุสมผล 9. การนำไปใช้ประโยชน์ 9.1 การเขียนผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากงานวิจัย หรือ การนำไปใช้ประโยชน์ ถือว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ผู้วิจัยควรเขียนให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การวิจัย และแสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์และผลของการนำผลของการวิขัยไปใช้ประโยชน์ สรุป จากการอภิปรายประเด็นองค์ความรู้ เรื่อง แนวทางการเสนอหัวข้อวิจัย/สร้างสรรค์ให้ได้รับทุน โดยเริ่มตั้งแต่การเลือกประเด็นหรือหัวข้อวิจัย การเขียนโครงร่างวิจัย การเชื่อมโยงความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา การกำหนดวัตถุประสงค์การวิจัยสอดคล้องกับประเด็นความรู้ที่ศึกษาวิจัย กรอบแนวคิดการวิจัยและตัวแปรที่เราจะศึกษาต้องชัดเจน ต้องทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง มีแนวทางการดำเนินการวิจัยเป็นลำดับขั้นตอน การกำหนดงบประมาณวิจัยที่เหมาะสม และคำนึงถึงการนำผลการวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ประเด็นองค์ความรู้ที่ได้จากการอภิปรายในครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ตรงจากครู อาจารย์ของสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ที่เคยได้รับสนับสนุนทุนการวิจัยและสร้างสรรค์จากสถาบันฯ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย เป็นต้น ดังนั้นหากผู้เสนอขอทุนวิจัยสนใจที่จะเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อขอรับสนับสนุนทุนการวิจัยจากแหล่งทุนใด ๆ ก็ตาม ควรจะศึกษากรอบวิจัยของแหล่งทุนนั้น ๆ เพื่อให้การเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยมีความสอดคล้องกับความต้องการของแหล่งทุนมากที่สุด ก็จะเพิ่มโอกาสในการได้รับพิจารณาสนับสนุนทุนการวิจัยมากขึ้นด้วย บรรณานุกรม คณะกรรมการจัดการความรู้ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตจักรพงษภูวนารถ. 2561.“เทคนิคการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัยให้ได้ทุน”.รายงานผลการดำเนินกิจกรรม KNOWLEDGE MANAGEMENT (KM) ด้านงานวิจัย ประจำปีการศึกษา 2560”สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2561, จาก https: // www.cpc.ac.th /liberal_new/book_file/20180905061237.pdf คณะกรรมการจัดการความรู้ วิทยาลัยช่างศิลป สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์.“เทคนิคการเขียนเสนอหัวข้อเพื่อขอทุน สนับสนุนงานวิจัย/งานสร้างสรรค์”.2556.การจัดการองค์ความรู้.สืบค้นเมื่อ 10 ตุลาคม 2561,จาก http:// cfa.bpi.ac.th/Research.pdf ฝ่ายนโยบายแผนและวิจัย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม.“เทคนิคการเขียนโครงร่างงานวิจัย ให้ได้รับเงินสนับสนุน”2558.การจัดการความรู้ด้านการวิจัย.สืบค้นเมื่อ 17 ตุลาคม 2561,จาก http:// web.chandra.ac.th/blog/wp-content/uploads/2015/10/เทคนิคการเขียนโครงร่างงานวิจัยให้ได้ รับทุนสนับสนุน.pdf
ประเภทงานวิจัย: 11. ด้านองค์ความรู้ทั่วไป
ชื่อผู้แต่ง: นางสาวชัญญาภัค แก้วไทรท้วม
หน่วยงานผลิตสื่อ:
ปีที่ตีพิมพ์: 2561
ปีงบประมาณ: 2561

ลิงค์อื่นๆ

เอกสารที่เกี่ยวข้อง

องค์ประกอบประเด็นการเขียนบทความแนวปฏิบัติที่ดี ชัญญาภัค (1).doc download

ข่าวล่าสุด